โรงงานแปรรูปอะคริลิค คือ อะไร???

หากวันนี้คุณกำลังมองหา

-สินค้าที่ใช้วัสดุที่มีความใส เช่น ดิสเพลย์, กล่องโชว์สินค้า, เฟอร์นนิเจอร์ใสๆ, ป้ายไฟ หรือ โล่ห์รางวัล

-พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้วัสดุที่มีความใส

หรือที่สุดแล้วจัดส่งวัสดุใสๆที่มีสีและความหนาพิเศษ

บทความนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้คุณได้

โรงงานแปรรูปอะคริลิค คือ โรงงานที่นำวัสดุอะคริลิค ที่มีลักษณะเป็นแผ่นเงาและใส มาแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ และสินค้าต่างๆ ให้เกิดการใช้งานตามความต้องการของคุณ ด้วยคุณสมบัติของวัสดุที่ใส จึงทำให้อะคริลิค เป็นที่นิยมในกลุ่มผลิตภัณฑ์ส่งเสริมการขาย เช่น ดิสเพลย์ ตู้โชว์สินค้า หรือแม้แต่ป้ายชื่อ เพราะความใสทำให้สินค้าที่ไปอยู่ใน ดิสเพลย์ หรือตู้โชว์ ไม่ถูกบดบัง แถม ยังปกป้องสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ บทความนี้จะอธิบายพื้นฐานที่คุณควรรู้เกี่ยวกับการหาโรงงานที่จะช่วยผลิตหรือพัฒนาสินค้า ที่ทำจากวัสดุอะคริลิค เพื่อให้คุณบรรลุเป้าหมายในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สิ่งแรกที่ผู้อ่านควรทำความเข้าใจ คือ โรงงานแปรรูปอะคริลิค ไม่ใช่ ผู้ผลิตแผ่นอะคริลิค

ผู้ผลิต ”แผ่น” อะคริลิค โดยมากจะเป็นเพียงโรงงานที่ทำหน้าที่ผลิตแผ่นวัสดุอะคริลิคเท่านั้น เพื่อจัดส่ง วัสดุแผ่นไปตามร้านค้าหรือโรงงานต่างๆ ที่มีความจำเป็นต้องใช้วัสดุอะคริลิค โดยมากโรงงานผลิตแผ่นจะไม่ทำการแปรรูป เนื่องจาก

1.การผลิตแผ่นวัสดุกับการแปรรูปแผ่นวัสดุให้เป็นสินค้าใช้ เครื่องจักรคนละประเภท

2.ช่างฝีมือในการผลิตแผ่น กับ ช่างฝีมือที่แปรรูปแผ่นวัสดุอะคริลิคให้เป็นสินค้า มีความเชี่ยวชาญคนละแบบ ช่างผลิตแผ่นจะเน้นในการคุมมาตรฐานให้แผ่นวัสดุถูกผลิตออกมาสวยงามมีมาตรฐานและความหนาเท่ากัน แต่ช่างแปรรูปจะมีทักษะในการคิดว่าจะเอาแผ่นอะคริลิคมาแปรรูปอย่างไรให้เป็นสินค้าอย่างที่ต้องการ

3.การแปรรูปแผ่นวัสดุให้เป็นสินค้า มักมีการสร้างเศษวัสดุและฝุ่นที่อาจจะไปปนเปื้อนกับ การผลิตแผ่นอะคริลิค โรงงานผลิตแผ่นที่ต้องการความสะอาดเป็นหลักจึงไม่นิยมแปรรูปในตัว

ด้วยเหตุนี้โรงงานผลิตแผ่นอะคริลิคจึงไม่นิยม แปรรูปแผ่นอะคริลิคที่ผลิตออกมาให้เป็นผลิตภัณฑ์หรือสินค้า แต่จะส่งแผ่นที่ตัวเองเป็นผู้ผลิตเหล่านั้นให้กับโรงงานแปรรูป ที่มีความเชี่ยวชาญในการแปรรูปไปพัฒนา หาวิธีเปลี่ยนรูปจากวัสดุให้เป็นสินค้าที่ตรงตามวัตถุประสงค์ และในทางกลับกันโรงงานแปรรูปก็มักจะไม่ผลิตแผ่นด้วยตัวเองเช่นกัน เพราะการผลิตแผ่นจะต้องใช้พื้นที่ และเครื่องจักรคนละรูปแบบกับการแปรรูป การปนการผลิตสองแบบเข้าในโรงงานเดียวจึงเป็นสิ่งที่ซับซ้อนเกินและไม่นิยม

สิ่งแรกที่ผู้อ่านควรคำนึงในการ search หาโรงงาน อะคริลิค จึงต้องถามตัวเองว่า ท่านต้องการ ”แผ่นวัสดุ” อะคริลิคเพื่อไปใช้งาน หรือ ท่านต้องการ ”สินค้าหรือผลิตภัณฑ์” ที่ผลิตจากวัสดุอะคริลิค

โรงงานแปรรูปอะคริลิคแบบไหนเหมาะกับคุณ?

หลังจากที่คุณได้ตัดสินใจแล้วว่าต้องการผลิตภัณฑ์จากแผ่นอะคริลิค การเลือกโรงงานแปรรูปอะคริลิคที่เหมาะสมกับงานของคุณก็สำคัญมาก ปัจจัยในการติดสินมากมาย และไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว 100% แต่เราสามารถใช้เกณฑ์ง่ายๆที่เรากำลังจะพูดถึงในบทความนี้ในการช่วยประเมิณว่า โรงงานแปรรูปที่เราคุยด้วยอยู่เหมาะสมกับงานเรามากน้อยแค่ไหน

1.ขนาดของผลิตภัณฑ์ โดยปกติ แผ่นวัสดุอะคริลิคจะถูกจัดส่งในขนาด 1.20เมตร x 2.40เมตร หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีขนาด เล็กกว่า 1เมตร x 1เมตร x 1เมตร เช่น ดิสเพลย์เครื่องสำอาง ดิสเพลย์มือถือ ป้ายไฟติดหน้าร้าน กล่องใส่tip เป็นต้น มักจะไม่ติดปัญหาอะไรมาก โรงงานแปรรูปอะคริลิคเกือบทุกโรงงานจะมีเครื่องจักร หรือ อุปกรณ์ ที่เพียงพอต่อการผลิตสินค้าขนาดนี้แน่นอน แต่หากเป็นสินค้าที่เริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นมามากกว่านั้น เช่น เฟอร์นิเจอร์ โพเดียม ดิสเพลขนาดใหญ่ ตู้ใสหรือชั้นเก็บของใสขนาดใหญ่ ก็ควรเริ่มพิจารณาหาโรงงานแปรรูปที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาทันที เพราะการทำงานที่มีขนาดใหญ่ต้องใช้พื้นที่ค่อนข้างเยอะ ความท้าทายของการสร้างผลิตภัณฑ์หรือสินค้าจากวัสดุอะคริลิค ไม่ได้มีเพียงแค่คั่นตอนผลิตเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงขั้นตอนการจัดเก็บและการขนย้ายสินค้าไปมาในระหว่างผลิตจนถึงวันจัดส่ง ก็มีความท้าทายมากไม่แพ้การผลิตเลยทีเดียว เพราะวัสดุอะคริลิคหากไม่ได้รับการดูแล หรือจัดเก็บอย่างเข้าใจธรรมชาติของวัสดุ รอยขีดข่วนจะเกิดขึ้นบนชิ้นงาน และความงามของผลิตภัณฑ์หรือสินค้าก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว

2.ความซับซ้อนในการประกอบสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุอะคริลิค การประกอบชิ้นงานจากวัสดุอะคริลิคในปัจจุบันยังคงต้องพึ่งพา ”ช่างฝีมือ” ไม่ต่างอะไรกับงานไม้ หรืองานช่างฝีมือประเภทอื่นๆที่ต้องใช้ความปราณีตและประสบการณ์ควบคู่กันไป ถึงแม้จะเป็นวัสดุพลาสติกก็ตาม การทำงานกับวัสดุอะคริลิคไม่เหมือนกับงานฉีดพลาสติกที่มีความแม่นยำสูง หากออกแบบไว้ดีแล้วงานฉีดสามารถจับชิ้นงานมาชนกันก็ประกบเข้ากันได้โดยง่าย แต่สินค้าอะคริลิคจะถูกคิดและออกแบบจากวัสดุทีเ่ป็นแผ่น แล้วนำไปแปรรูปด้วยเทคนิคต่างๆ ซึ่งมีข้อจำกัดในการขึ้นรูปตามเทคนิคและเครื่องจักรที่โรงงานแปรรูปอะคริลิคแต่ละแห่งมี หากมีการประกอบที่ซับซ้อนควรหาโรงงานที่มีประสบการณ์ยาวนานที่มีช่างฝีมือมากพอจะสนับสนุนการประกอบที่ซับซ้อน หรือมีทีมพัฒนาแบบที่ช่วยพัฒนาแบบสินค้าของคุณให้เหมาะกับการผลิตด้วยวัสดุอะคริลิค เทคนิคง่ายๆจากข้อนี้คือขอดูตัวอย่างงานที่มีความซับซ้อนประกอบการตัดสินใจ

3.จำนวนที่จะสั่งผลิต หนึ่งในเสน่ห์ที่สวยงามของผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุอะคริลิคคือ MOQ หรือจำนวนขั้นต่ำในการผลิตที่น้อยหรือบางโรงงานแปรรูปยังสามารถรับทำแม้สั่งเพียงชิ้นเดียว เหตุผลเดียวกับข้อ 2 ที่ได้กล่าวไป การผลิตสินค้าจากวัสดุอะคริลิคถูกคิดและออกแบบจากแผ่นวัสดุ ทำให้ไม่ต้องมีการเปิดแม่พิมพ์ เหมือนวัสดุพลาสติกประเภทอื่น เลยไม่จำเป็นต้องมี overhead cost หรือการจ่ายค่าแม่พิมพ์ในราคาสูงก่อนเริ่มผลิต ทำให้ไม่จำเป็นต้องวางแผนเพื่อที่จะผลิตในจำนวนมากเพื่อให้จำนวนสินค้าสมเหตุสมผลกับค่าแม่พิมพ์ แต่นี่ก็จะเป็นเหมือนจุดอ่อนของวัสดุอะคริลิคเช่นกัน หากคุณวางแผนที่จะผลิตในจำนวนที่มาก หลัก 1,000 ชิ้นขึ้นไปในกรณีสินค้าขนาดเล็ก หรือ หลัก 100ชิ้นในสินค้าขนาดใหญ่ จำเป็นต้องตรวจสอบความสามารถในการรองรับการผลิตจำนวนมากของโรงงานอย่างละเอียด เช่น จำนวนช่างฝีมือในการประกอบชิ้นงาน, จำนวนเครื่องจักรที่ใช้ในการตัดชิ้นงาน และสุดท้ายพื้นที่ในการจัดการกับ stock สินค้า แน่นนอนหากคุณต้องการผลิตกล่องจากอะคริลิค 1000 กล่อง แต่โรงงานมีพนักงานประกอบเพียง 2 คนและช่างตัดอีก 1 คน เราอาจจะได้รอสินค้ากันข้ามเดือนข้ามปีกันเลยทีเดียว

เกณฑ์สามข้อนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการพิจารณาว่าโรงงานแปรรูปอะคริลิคไหนเหมาะสมกับงานของคุณและแน่นอนว่าในแต่ละโปรเจคมีความซับซ้อนและเงื่อนไขที่แตกต่างกันการคุยกับโรงงานแปรรูปแต่เนิ่นๆในระหว่างพัฒนา แนวทางการออกแบบ เพื่อเข้าใจถึงข้อจำกัดของโปรเจคก็จะเป็นเรื่องที่ดี

สุดท้ายคุยกับโรงงานแปรรูปอะคริลิคอย่างไรดี???

เมื่อเราเจอโรงงานแปรรูปที่เหมาะกับโปรเจคของเราแล้ว การเตรียมข้อมูล เพื่อไปคุยกับโรงงานเพื่อขอใบเสนอราคา ก็เป็นสิ่งจำเป็นมาก ข้อมูลที่โรงงานอยากได้จะประกอบไปด้วย

1.ภาพ drawing เขียนแบบ ที่บอกรายละเอียดชัดเจน อาจจะไม่จำเป็นต้องลงลึกถึงขั้น engineer drawing ที่บอกรายละเอียดที่ซับซ้อน แต่ต้องสื่อสารได้ว่า ผลิตภัณฑ์ มีขนาด เท่าไร ประกอบไปด้วย part กี่ชิ้น ทำงานอย่างไร เหตุผลที่ไม่ต้องบอกถึงขั้น engineer drawing เพราะว่า แบบที่คุณจะนำไปคุยกับโรงงานแปรรูปนั้นจะถูก เจรจาปรับเปลี่ยน เพื่อให้เหมาะกับ อุปกรณ์เครื่องจักร และ เทคนิคการแปรรูปอะคริลิคที่โรงงานมี ดังนั้น ภาพเขียนแบบจึงเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นบทสนทนา เพื่อ หาแนวทางการผลิตที่เหมาะสมที่สุด ต่อไป

2.ตัวอย่างงานจริง prototype หรือ mock up หากมีสินค้าจริงอยู่แล้วและต้องการให้โรงงานทำให้เหมือน ตัวอย่างชิ้นงานจริงก็จะช่วยในการสื่อสารได้ดีมาก แต่ถึงแม้จะมีตัวอย่างชิ้นงานจริงแล้ว ภาพเขียนแบบก็ยังขาดไม่ได้อีกเช่นเคยจากการตีราคา เนื่องจาก สินค้าจะตีราคาจาก น้ำหนักของวัสดุ อะคริลิคที่ใช้ + กับค่าเครื่องจักร + ค่าแรง การได้เขียนแบบที่บอก ขนาดกว้าง ยาว สูงของแต่ละชิ้นงานจะทำให้ขั้นตอนการตีราคาเกิดขึ้นได้ ในทางกลับกัน หากมีเพียงแต่ชิ้นงานจริง แต่ไม่มีเขียนแบบ โรงงานก็จะต้องให้คนมานั่งแกะแบบเพื่อตีราคา หากไม่ได้มีความสัมพันธ์กับโรงงานไว้แต่แรก ขั้นตอนการแกะแบบก็มักจะมีค่าใช้จ่าย เพื่อการตีราคา ดังนั้นตัวอย่างงานจริงจะเป็นเพียงการช่วยสื่อสารเรื่องการใช้งาน ภาพลักษณ์ ที่สินค้าจะต้องไปให้ถึง แต่ยังไม่เพียงพอสำหรับการตีราคาได้

3.การขึ้นตัวอย่าง ถึงแม้ จะมีตัวอย่างชิ้นงานให้เห็นอยู่แล้ว คุณก็ไม่ควรข้ามขั้นตอนการขึ้นตัวอย่างโดยโรงงานแปรรูปอะคริลิคที่คุณติดต่ออยู่ เหตุผลหลักๆคือ ถึงแม้จะมีตัวอย่างสินค้าที่ชัดเจนมากแล้ว แต่ด้วยเครื่องจักรและเทคนิคช่างที่ต่างกันในแต่ละโรงงาน ผลิตภัณฑ์ เดียวกันแต่ถูกผลิตคนละโรงงานก็มีโอกาส สูงมากๆ ที่จะ ผลิตออกมาได้ไม่เหมือนกัน 100% ความแตกต่างจะถูกซ่อนอยู่ในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ตามแต่ เทคนิค การผลิตของแต่ละโรงงาน ซึ่งคุณไม่ควรละเลยขั้นตอนการขึ้นตัวอย่าง เป็นอันขาด เพื่อ ตรวจทาน สินค้า ก่อนสั่งผลิตจริง

และทั้งฟมดนี้ เป็นเกล็ดความรู้เล็กๆน้อยๆ ที่เราหวังว่าจะช่วยให้ท่านหาโรงงานมาช่วยผลิตสินค้าจากวัสดุอะคริลิค ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากขึ้น ตรงโจทย์ ประหยัดเวลาในการสื่อสาร และหากมีข้อสงสัยใดๆเกี่ยวกับการสร้างสินค้า ที่ต้องการความใส จาก แผ่น อะคริลิค Silpfa plastic ยินดีให้คำปรึกษาแก่ท่านอย่างเต็มที่โดยช่างผู้เชี่ยวชาญ ในวงการกว่า 50 ปี

Previous
Previous

คุณสบบัติอะคริลิคเทียบเมือกับกระจก

Next
Next

ทำไม ? โรงงาน Silpfa ถึงเป็นที่ยอมรับจากองค์กรชั้นนำ